วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสนพระราชหฤทัยด้านดนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดนตรีตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างแท้จริงคือการเขียนโน้ตและบรรเลงแบบคลาสสิก มีพระอาจารย์ถวายคำแนะนำอย่างเข้มงวดนานกว่า ๒ ปี

หลังจากทรงฝึกหัดดนตรีขั้นพื้นฐานได้นานพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสนพระราชหฤทัยทรงดนตรีไปในแนวแจ๊ส (Jazz) ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียงและทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรีต่าง ๆ จากแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีเหล่านั้น แล้วจึงทรงบรรเลงสอดแทรกพร้อมกับแผ่นเสียงของนักดนตรี ที่มีชื่อเสียงตามสไตล์ที่โปรด เช่น สไตล์การเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ของซิดนี่ เบเซ่ (Sydney Bechet) ออโต แซกโซโฟน ของจอห์นนี่ ฮอดเจส (Johny Hodges) เปียโนและวงดนตรีของดยุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) เป็นต้น


ยามที่ทรงว่างจากการศึกษาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดานักเรียนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปร่วมสโมสรสังสรรค์ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และร่วมทรงดนตรีด้วยอย่างสำราญพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จฯ ประทับที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีสเป็นการส่วนพระองค์ก็ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณร่วมทรงดนตรีกับนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส การที่ทรงใช้ดนตรีวงสมัครเล่นเป็นสื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่สนุกสนานและเป็นกันเองเช่นนี้ ได้กลายเป็นผลประโยชน์อเนกอนันต์ในเวลาต่อมา คือการประสานความร่วมมือระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับบุคคลในวงการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานสาธารณประโยชน์นานาประการแก่ประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีเป็นพิเศษ เครื่องดนตรีที่โปรดคือ เครื่องเป่าแทบทุกชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต ทั้งยังทรงกีตาร์และเปียโนได้อีกด้วย นอกจากนี้ทรงเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวงทั้งไทยและต่างประเทศ ทรงเข้าบรรเลงร่วมกับวงดนตรีนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าวงดนตรีนั้นจะมีแนวการเล่นแบบใด สำหรับวงดนตรีแจ๊สนั้น ยังทรงดนตรีได้ทั้งชนิดมีโน๊ตและไม่ต้องมีโน้ต

เมื่อถึงตอนเดี่ยว (Solo) ทรงสามารถใช้ปฏิภาณเล่นเดี่ยวได้อย่างยอดเยี่ยม ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่า การเดี่ยวแบบ "Soloadlip" ซึ่งถือว่ายาก เพราะนักดนตรีจะต้องแต่งเนื้อหาขึ้นโดยฉับพลัน แต่ให้อยู่ในกรอบของจังหวะและแนวเพลงนั้น พระราชอัจฉริยภาพทางดนตรีนั้นถึงขั้นที่ทรงคลาริเน็ตและแซกโซโฟนบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครงกับนักดนตรีต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) แจ๊ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) นักตีระนาดเหล็กสากล ไลออเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักเป่าทรัมโบน และ สแตน เก็ตส์ (Stan getz) นักเป่าเทนเนอร์ แซกโซโฟน

เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครนิวยอร์คประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกเหล่านั้นล้วนถวายการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริภาพสูงส่ง

ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและผู้ที่เคยได้ร่วมเล่นดนตรีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่าถึงพระราชอัจฉยริภาพในการพระราชนิพนธ์เพลงว่า ทรงแต่งเพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย ครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัยหยิบฉวยซองจดหมายได้ก็ทรงตีเส้น ๕ เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นโดยฉับพลัน เช่น "เราสู้" เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น